วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

Spanish ภาษาสเปน

ภาษาสเปน (Spanish, Castilian; Español, Castellano) เป็นภาษาในกลุ่มภาษาไอบีเรียนโรมานซ์ ที่มีคนพูดมากเป็นอันดับ 3 หรือ 4 ของโลก โดยที่มีคนพูดเป็นภาษาแรกประมาณ 352 ล้านคน และมากถึง 417 ล้านคน เมื่อรวมคนที่ไม่ได้พูดเป็นภาษาแรกด้วย (จากการประมาณเมื่อปี พ.ศ. 2542) ประชากรส่วนใหญ่ที่พูดภาษาสเปนจะอาศัยอยู่แถบลาตินอเมริกา

ชื่อภาษาและที่มา

ชาวสเปนมักเรียกภาษาของตนว่า ภาษาสเปน (español) เมื่อนำภาษานี้ไปเปรียบเทียบกับภาษาของชาติอื่น เช่น ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ แต่จะเรียกว่า ภาษาคาสตีล (castellano) [= ภาษาของแคว้นคาสตีล] เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาษาในประเทศสเปนภาษาอื่น ๆ (เช่น ภาษากาลิเซีย ภาษาบาสก์ และภาษาคาตาลัน) หรือแม้กระทั่งการนำไปเทียบกับบรรดาภาษาพื้นเมืองของประเทศในลาตินอเมริกา บางประเทศ ด้วยวิธีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน ค.ศ. 1978 จึงใช้คำว่า "ภาษาคาสตีล" (castellano) เพื่อนิยามภาษาราชการของประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับ "ภาษาของสเปนภาษาอื่น ๆ" (las demás lenguas españolas) ตามมาตรา 3 ดังนี้

El castellano es la lengua española oficial del Estado. (…) Las demás lenguas españolas serán también oficiales en las respectivas Comunidades Autónomas…
ภาษาคาสตีลเป็นภาษาสเปนทางการของทั้งรัฐ (…) ภาษาสเปนภาษาอื่น ๆ จะมีสถานะทางการเช่นกันในแคว้นปกครองตนเองตามลำดับ (ต่อไปนี้…)
นักนิรุกติศาสตร์บางคนใช้ชื่อ "Castilian" เมื่อกล่าวถึงภาษาที่ใช้กันในภูมิภาคคาสตีลสมัยกลางเท่านั้น โดยเห็นว่า "Spanish" ควรนำมาใช้เรียกภาษานี้ในสมัยใหม่จะดีกว่า ภาษาถิ่นย่อยของภาษาสเปนที่พูดกันทางตอนเหนือของแคว้นคาสตีลในปัจจุบันเอง บางครั้งก็ยังเรียกว่า "Castilian" ภาษาถิ่นนี้แตกต่างจากภาษาถิ่นในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศสเปน (เช่นในแคว้นอันดาลูเซียหรือกรุงมาดริดเป็นต้น) โดยในประเทศสเปนถือว่าเป็นภาษาเดียวกับภาษาสเปนมาตรฐานอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม คำ castellano ยังใช้กันเป็นวงกว้างเพื่อเรียกภาษาสเปนทั้งหมดในลาตินอเมริกา เนื่องจากผู้พูดภาษาสเปนบางคนจัดว่า castellano เป็นคำกลาง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมืองหรือลัทธิใด (เหมือนกับ "Spanish" ในฐานะคำหนึ่งของภาษาอังกฤษ) ชาวลาตินอเมริกาจึงมักใช้ตำนี้ในการแบ่งแยกความหลากหลายของภาษาสเปนในแบบของ พวกเขาว่า ไม่เหมือนกันกับความหลากหลายของภาษาสเปนที่ใช้กันในประเทศสเปนเอง

คำว่า español ที่ถูกนำมาเปลี่ยนแปลงรูปตามกฎทางไวยากรณ์และสัทวิทยา (การศึกษาเกี่ยวกับเสียงในภาษา) ของแต่ภาษาเพื่อใช้เรียกชาวสเปนและภาษาของพวกเขานั้น มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า "ฮิสปานีโอลุส" (Hispaniolus) [= ชาวฮิสปาเนียน้อย] รูปคำดังกล่าวได้วิวัฒนาการมาเป็น Spaniolus (ในช่วงเวลานั้น ตัว H ในภาษาละตินจะหายไปในการสนทนาปกติ คำนี้จึงออกเสียงว่า "อิสปานีโอลู" [ispa'niolu]) และสระ [i] (ใช้ในภาษาพูดของละตินเพื่อความรื่นหู) ก็ถูกเปิดเป็นสระ [e] จึงทำให้คำนี้มีรูปเขียนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ประวัติ

ภาษาสเปนพัฒนาขึ้นในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-9 โดยมีรากฐานจากภาษาละตินสามัญ (Vulgar Latin)[2] ที่ใช้สื่อสารกันในแถบภูเขากันตาเบรีย บริเวณจังหวัดกันตาเบรีย บูร์โกส และลารีโอคา ทางตอนเหนือของประเทศสเปนปัจจุบัน โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาบาสก์และภาษาเคลติเบเรียน

ภาษาที่เกิดขึ้นนี้มีลักษณะเฉพาะทางสัทวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาษาละ ตินเดิม ได้แก่ การกลายเสียงพยัญชนะให้อ่อนลง (เช่น จาก vita ในภาษาละติน เป็น vida ในภาษาสเปน) การทำให้เป็นเสียงเพดานแข็ง (เช่น จาก annum [-นน-] เป็น año [-นย-] และจาก anellum [-ลล-] เป็น anillo [-ลย-]) และการทำสระเดี่ยวให้กลายเป็นสระประสม (การเปลี่ยนต้นเค้าศัพท์) ของสระ e และ o (เช่น จาก terra เป็น tierra และจาก novus เป็น nuevo) ปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้สามารถพบได้ในประวัติของภาษากลุ่มโรมานซ์ภาษา อื่นเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากที่จักรวรรดิโรมันล่มสลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ซึ่งได้ลดการติดต่อทางวัฒนธรรมระหว่างดินแดนต่าง ๆ กับกรุงโรมลงด้วย

ในช่วงการพิชิตดินแดนคืนจากพวกมุสลิม (Reconquista เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7) ภาษาท้องถิ่นทางเหนือภาษานี้ก็ถูกนำลงมาทางใต้ โดยเข้าไปแทนที่หรือส่งอิทธิพลต่อภาษาในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งในขณะเดียวกันก็ได้ยืมศัพท์เป็นจำนวนมากจากภาษาอาหรับของพวกมัวร์ (ชาวมุสลิมที่เคยปกครองคาบสมุทรไอบีเรีย) รวมทั้งรับอิทธิพลจากภาษาของชาวคริสต์และชาวยิวที่เคยอยู่ภายใต้การปกครอง ของพวกมัวร์ด้วย (แต่ภาษาเหล่านี้ได้สูญไปจากคาบสมุทรไอบีเรียตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16)

ก้าวแรกของการทำให้ภาษาเขียนมีความเป็นมาตรฐานนั้นเริ่มต้นในคริสต์ ศตวรรษที่ 13 โดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 (พระเจ้าอัลฟอนโซนักปราชญ์) พระองค์ทรงรวบรวมนักเขียนและปราชญ์จากที่ต่าง ๆ มาประชุมกันในราชสำนัก และทรงอำนวยการตรวจตรางานเขียนของปราชญ์เหล่านั้นซึ่งมักเป็นเรื่องเกี่ยว กับประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ และกฎหมาย ต่อมาในปี ค.ศ. 1492 เอเลียว อันโตเนียว เด เนบรีคา (Elio Antonio de Nebrija) ก็ได้แต่งตำราไวยากรณ์ภาษาสเปนขึ้นที่เมืองซาลามังกา มีชื่อว่า Gramática de la Lengua Castellana ซึ่งถือเป็นตำราไวยากรณ์ภาษาแรกของกลุ่มโรมานซ์ด้วย

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภาษาสเปนก็ได้ถูกนำเข้าสู่ดินแดนทวีปอเมริกาและสแปนิชอีสต์อินดีสโดยผ่านนัก สำรวจและนักล่าดินแดนเป็นอาณานิคม ภาษาสเปนกลายเป็นภาษาหลักทางศิลปะ การเมือง และการค้าของทวีปยุโรป (จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ภาษาฝรั่งเศสจึงเข้ามามีอิทธิพลอย่างสูงแทน) และในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ภาษาสเปนก็ได้รับการแนะนำในประเทศอิเควทอเรียลกินี ดินแดนเวสเทิร์นสะฮารา และพื้นที่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิสเปน มาก่อนเลย เช่น ในย่านสแปนิชฮาร์เล็มของนครนิวยอร์ก
ลักษณะเฉพาะ

สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ลักษณะเฉพาะของภาษาสเปนคือ การทำให้สระสั้นของละตินอย่างสระเอ (e) และสระโอ (o) เป็นสระประสมสองเสียง (diphthong) คือ สระเอีย (ie) และสระอวย (ue) ตามลำดับ เมื่อสระเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งที่ลงเสียงหนัก การกลายเสียงที่คล้ายกันนี้ยังสามารถพบได้ในภาษาโรมานซ์อื่น ๆ แต่ในภาษาสเปน ลักษณะเหล่านี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ ดังตัวอย่าง:

ละติน petra > สเปน piedra, อิตาลี pietra, ฝรั่งเศส pierre, โปรตุเกส/กาลิเซีย pedra "ก้อนหิน"
ละติน moritur > สเปน muere, อิตาลี muore, ฝรั่งเศส meurt / muert, โรมาเนีย moare, โปรตุเกส/กาลิเซีย morre "เขาตาย"
ความประหลาดอีกอย่างหนึ่งของภาษาสเปนยุคแรก (เช่นใน ภาษาถิ่นกาสกองของอ็อกซิตัน) และเป็นไปได้ว่ามาจากภาษาบาสก์ซึ่งเป็นภาษาถิ่นเดิม คือการกลายจาก f- ที่อยู่ต้นคำ เป็น h- เมื่อ f- นี้ตามด้วยสระที่ไม่ประสมสองเสียง ดังตัวอย่าง

ละติน filium > อิตาลี figlio, โปรตุเกส filho, ฝรั่งเศส fils, อ็อกซิตัน filh (แต่ กาสกอง hilh) สเปน hijo (แต่ ลาดิโน fijo) "ลูกชาย"
ละตินช่วงหลัง *fabulare > ลาดิโน favlar, โปรตุเกส falar, สเปน hablar "พูด"
แต่ ละติน focum > อิตาลี fuoco, โปรตุเกส fogo, สเปน/ลาดิโน fuego "ไฟ"
พยัญชนะควบกล้ำบางตัวของละตินยังทำให้เกิดผลแตกต่างกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ในภาษาเหล่านี้ ได้แก่

ละติน clamare flammam, plenum > ลาดิโน lyamar, flama, pleno; สเปน llamar, llama, lleno (แต่ภาษาสเปนก็มีรูป clamar, flama, pleno ด้วยเช่นกัน); โปรตุเกส chamar, chama, cheio
ละติน octo, noctem, multum > ลาดิโน ocho, noche, muncho; สเปน ocho, noche, mucho; โปรตุเกส oito, noite, muito

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น